Saturday, January 6, 2007

ฝึกใจแบบนกอินทรีเลี้ยงลูก

ในหนังสือ "นกอินทรีเลี้ยงลูก" โดย "รัญจวน อินทรกำแหง" เล่าถึงวิถีชีวิตของนกอินทรี เกี่ยวอะไรกับการฝึกจิตรู้ใจ ลองเปรียบเทียบดูได้ ...

ขอให้เรามาลองศึกษาชีวิตของนกอินทรี ว่านกอินทรีนั้นเลี้ยงลูกอย่างไร และวิธีการเลี้ยงการฝึกอบรมของพ่อนกแม่นกอินทรีนั้น ได้ยังชีวิตที่มีคุณค่ามีประโยชน์ต่อชีวิตของลูกนกอย่างไร เริ่มตั้งแต่การหาก้อนหินมาเป็นรัง ประกอบด้วยกิ่งไม้ใหญ่บ้างเล็กบ้าง แซมด้วยหนามแหลมๆ คมๆ รวมทั้งมีใบไม้มาวางปิดหนามอีกทีหนึ่ง สุดท้ายแม่นกก็จะสลัดขนของตัวเองปูลงบนใบไม้อีกทีหนึ่ง ฉะนั้น เมื่อลูกนกออกมาจะได้นอนอยู่บนขนที่อ่อนนุ่ม.....

แต่เมื่อลูกนกอ่อนเริ่มแข็งแรง แม่นกก็จะจัดแจงเอาขนที่สลัดปูไว้ออกจากรัง แล้วปล่อยให้ลูกนกนอนอยู่บนใบ้ไม้ที่แข็งกระด้างกว่าขนนก ผ่านไปได้สักระยะแม่นกก็จะเอาใบไม้ออก ทีนี้ลูกนกก็ต้องอยู่บนหนามแข็ง จะดิ้นไปซ้ายหรือขวาก็มีหนามเต็มหมดทั้งรัง ลูกนกจะต้องถูกหนามทิ่มแทงให้เจ็บปวด

ตอนนี้ฝึกอะไร ก็คงจะตอบได้ว่าฝึกความอดทน แข็งแกร่งนั่นเอง แม่นกจะปล่อยให้ลูกนกดิ้นกระเสือกกระสนอยู่บนหนาม เพื่อให้รู้จักความเจ็บปวด รู้จักการถูกทิ่มแทง ช่วงนี้เป็นการเรียนรู้เรื่องชีวิตแล้วว่า ชีวิตนั้นมันไม่ได้อ่อนนุ่มสุขสบายเหมือนขนนกเสมอไป แต่ในขณะเดียวกันโดยสัญชาตญาณ ลูกนกจะได้เรียนรู้วิธีการหลบหลีกหนามที่หลีกไม่ค่อยจะพ้นนั่นแหละ แต่อย่างน้อยก็คงจะรู้จักวิธีหลบหลีกเพื่อให้เจ็บปวดน้อยที่สุด พอแม่นกเห็นลูกมีกำลังควรแก่การฝึกหัดแล้ว ก็จะคาบลูกบินขึ้นไปบนอากาศให้สูงที่สุด แล้วจะปล่อยให้ลูกนกหล่นลงมา

ขณะที่อยู่ในกลางอากาศนั้นแม่นกจะจับตาดูอยู่ เมื่อตกลงมาใกล้จะถึงพื้นดิน แม่นกจะโฉบลงมาคาบลูกขึ้นไปใหม่ แล้วก็ปล่อยลงไปอีก ทำซ้ำหลายๆ ครั้งกระทั่งลูกค่อยๆ บินได้ คือลูกจะค่อยๆ เรียนรู้การฝึกบินด้วยสัญชาตญาณ...

ทีนี้จะเปรียบวิธีการฝึกของแม่นกอินทรีที่ฝึกลูกกับการฝึกอบรมตน ให้มีการปฏิบัติให้เข้าถึงแก่นของพระธรรม

ขนนกก็เหมือนกับในการศึกษาธรรมะนั้น ได้พยายามที่จะให้ความชุ่มชื่นเบิกบาน ในการสอนในการฟัง จะเน้นให้เห็นถึงทาน ศีล ภาวนา ในเบื้องต้นพอให้เบิกบานใจ

ใบไม้ก็เป็นการฝึกที่เข้มข้นขึ้นอีก เป็นการดึงจากการฝึกข้างนอกให้เข้าไปสู่ข้างใน เช่น การบริจาคทานข้างนอกไปสู่การบริจาคทานข้างใน การบริจาคทานข้างในก็คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่นอยู่ ความเห็นแก่ตัว ซึ่งเกิดจากความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตน

เสร็จแล้วก็มาถึงหนาม หนามนี้ก็คือเวทนา เปรียบได้กับเวทนาที่มันเป็นจิตสังขาร มันจะทิ่มแทงใจให้เจ็บปวดอยู่เสมอ นั่นก็จะต้องศึกษาให้รู้จักเรื่องของเวทนา ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็เกิดขึ้นจากตรงจุดของผัสสะที่ผ่านมาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และใจนั้นยังไม่ฉลาดพอ พอผัสสะเกิดขึ้นก็ถลาไปกอดรัดฟัดเหวี่ยงกับมัน แล้วจิตใจก็เกิดเป็นทุกข์ โดยไม่รู้ว่าต้นเหตุของเวทนาจริงๆ นั้นมันเกิดขึ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนนั่นเอง

เพราะฉะนั้นจึงต้องเน้นการฝึกให้เข้าใจถึงเรื่องของอนัตตา คือ ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ต้องศึกษาถึงเรื่องของอิทธิพลและโทษทุกข์ของเวทนาที่เกิดขึ้นแก่จิต ให้เห็นว่าจิตที่ตกเป็นทาสของเวทนานั้นจะต้องเจ็บปวดเพียงใด จนกระทั่งรู้สึกเข็ดหลาบ

เวทนาก็เป็นเสมือนหนามที่แทงให้เจ็บปวด ทั้งบวกและลบ จนกว่าจะอยู่เหนือความเป็นบวกและลบ

ส่วนกิ่งไม้หรือหินก็เท่ากับว่าเป็นการฝึกอบรมให้เข้มแข็งแกร่งกล้ายิ่งขึ้น ตามลำดับ ให้รู้จักความเป็นธรรมดาของโลก

การที่จะฝึกให้บินเหมือนอย่างแม่นกฝึกลูกนกอินทรีให้บินจนกระทั่งบินได้นั้น ต้องมีความเป็นอิสระ จากสิ่งที่ผูกมัดใจให้เป็นทาส คือ ความยึดมั่นถือมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ความยึดมั่นในตัวหรือความเป็นอัตตา สิ่งที่จะต้องเรียนรู้อย่างหนักจนกระทั่งประจักษ์แจ้งก็คือเรื่องของอนัตตา

(จาก กระทู้ในลานธรรมเสวนา)