Saturday, January 6, 2007

จะทำมั้ยเล่า . . . ถ้าทำจริง ก็ได้จริง 3

อนุปุพพิกถา

วันนี้ พวกเราทั้งหลายก็ได้มาทำบุญกันแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง บันเทิงในโลกนี้ ละโลกนี้ไปแล้วก็บันเทิง เพราะเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตน เริ่มว่าการฟังธรรมอยู่เป็นบุญกิริยา เริ่มฟังอยู่ก็มีความตั้งใจ และจะได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงจัดเป็นบุญกิริยวัตรข้อที่ ธรรมสวนมัยบุญ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเทศนาไว้ว่า การฟังธรรมเป็นมงคล พระองค์ตรัสเทศนาไว้ในอนุปุพพิกถา 5 ประการ

แสดง ทาน เป็นเบื้องต้น ทานการบริจาคนั้นท่านแบ่งออกเป็น 2 คือ เป็นภายในและเป็นภายนอก เพื่อจะให้บำรุงความสุขแก่ผู้อื่น และบูชาคุณท่านที่ควรบูชาแล้วจะได้ละ พลัดพรากจากอิฏฐารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ซึ่งเป็นสังขารภายใน

ข้อสอง ศีล การสำรวมกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย ไม่เป็นที่รังเกียจแก่เพื่อนมนุษย์ ตลอดถึงสัตว์ เพราะมีศีลบริบูรณ์ ตลอดถึงใจเสมอกัน ทำให้เกิดความชุ่มชื่นเป็นสุขเหมือนกันทั่วแผ่นดิน ถ้าฝนตกลงมาแผ่นดินก็ชุ่ม ต้นไม้ที่อาศัยก็มีรากทอดไปได้ ถ้าปล่อยให้แห้งมีแต่แดดเผาอยู่อย่างเดียว เพราะความร้อน แผ่นดินก็แห้ง ถ้าอยากให้แผ่นดินชุ่มก็หาน้ำมารดลง แผ่นดินก็ชุ่มชื้นขึ้น ต้นไม้ก็อาศัยงอกงามขึ้นได้ ถ้าปล่อยให้แห้ง ฝนก็ไม่มี เมื่ออยากจะให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความชุ่มชื้นเสมอกัน ต้องมีศีลฉันนั้น

เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงตรัสเทศนาไว้ให้มีทาน การบริจาค และให้ตั้งอยู่ในศีล การสำรวม กาย วาจา ให้เรียบร้อย ไม่เป็นที่รังเกียจแก่เพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน เพราะมีความบริบูรณ์ตลอดถึงใจเสมอกัน

สวรรค์ นั้นเป็นผลของทาน ศีล ทานศีล เป็นเหตุที่ดี ก็ได้รับผลดีขึ้นสวรรค์ เหตุชั่วก็ได้รับผลชั่วตรงกันข้าม เมื่อเหตุของคนทำลงไปแล้ว ย่อมต้องได้รับผลเหตุนั้นเนื่องมาจากภายใน มีจิตใจเป็นผู้กรทำ เมื่อนำด้วยความตั้งใจก็สำเร็จผลเต็มที่ ส่วนตัวผลนั้นคือตัวอารมณ์ภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส ที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะ มีตา เป็นต้น มีใจเป็นที่รับจึงจะได้รับผลดีผลชั่วตามเหตุ ถ้าเหตุดีก็ได้รับผลดี ถ้าเหตุชั่วก็ได้รับผลชั่วตรงกันข้ามดังได้พรรณามาแล้วนั้น

ต่อแต่นี้จะอธิบายอานิสงส์แห่ง เนกขัมมะ การออกจากกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ อุปมาดั่งสวรรค์ สวรรค์นั้น... แม้เป็นส่วนดี แต่มันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา แต่ส่วนสามัญวิสุทธิ์ประสงค์ประกอบไปด้วยอุปกิเลส ดังพุทธภาษิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธจ้าตรัสเทศนาไว้ว่า

"ปภสฺสรมิทํ จิตฺตํ เวทิตํ จ โย อาคนฺตุคเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิเลตํ" ความว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง แต่เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมา และยึดถือด้วยความหลงว่า
"เอตัง มะมะ" นี่เป็นของเรา เราเป็นนั่น นั้นเป็นตัวตนของเรา...เมื่อรู้เท่าทันต่อสิ่งเหล่านี้แล้ว ใจก็จะได้สุข

เพราะเหตุนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสเทศนาไว้ในโลกธรรมสูตรมีใจความว่า ความได้ลาภหนึ่ง ความเสื่อมลาภหนึ่ง ความได้ยศคือ ความเป็นใหญ่หนึ่ง ความสรรเสริญคือ ความที่เขายกย่องหนึ่ง ความนินทาคือ ความที่เขาว่าร้ายหนึ่ง ความรักสุขอันเกิดจากอิฏฐารมณ์ที่พึงพอใจหนึ่ง ความรักทุกข์คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจหนึ่ง รวมเป็นโลกธรรม ธรรมสำหรับโลกทั้ง 8 อย่าง

พระขีณาสพ ท่านรู้เท่าทันต่อสิ่งเหล่านี้แล้ว ท่านจึงไม่ยินดีไปตามและเสียใจไปตามอารมณ์ที่ได้รับนั้น แล้วส่วนสามัญเราเล่า ถ้าได้รับอารมณ์เช่นนั้นเข้าแล้ว ก็ยินดีไปตามและเสียใจไปตาม เพราะเหตุนั้นโลกธรรม 8 ทั้งหลาย และอุปกิเลสทั้งหลายจึงเข้าครอบงำใจได้ ถ้ามีสติและสัมปชัญญะอยู่จะรู้ได้ที่ตัวของตัวเอง เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงตรัสเทศนาไว้ให้รู้เท่าทันโทษของการยึดมั่นหมายมั่น คือ เอตัง มะมะ นี้เป็นของของเรา เราเป็นนั่น นั้นเป็นตัวตนของเรา เมื่อรู้เท่าทันต่อสิ่งเหล่านั้นแล้ว ใจจะได้เป็นสุข...

ผู้มีปีติความเอิบอิ่มในธรรม มีจิตใจผ่องใสแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศแล้วทุกเมื่อ เพราะเหตุนั้นจึงได้ประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธศาสนา จึงได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม คุณค่าจึงได้บังเกิดขึ้น

ต่อแต่นี้ไปจะอธิบายในเหตุที่จะให้เกิดสุข เหตุที่จะให้เกิดทุกข์ สาเหตุว่าพวกเราทั้งหลายยังไม่มีปัญญาพอแก่ตัวจะแก้จากทุกข์ได้ เพราะทุกข์นั้นจะเกิดมาแต่สิ่งเหล่าใด สุขนั้นจะเกิดมาแต่สิ่งเหล่าใดถึงเข้าใจไว้เสียว่า ทุกข์นั้นเกิดมาแต่เหตุที่ไม่พอใจ สุขนั้นเกิดมาแต่เหตุที่พอใจ สิ่งที่พอใจและไม่พอใจก็เกิดมาแต่เหตุ เมื่อรู้ไม่เท่าทันเหตุ เหตุจะทำให้เป็นสุขก็ได้ จะทำให้เป็นทุกข์ก็ได้ พวกเราเกิดมาเติบโดถึงเพียงนี้ต้องอยู่ในห้วงปกครองของผู้ใหญ่มาโดยลำดับ ใคร ๆ จะมีอิสระภาพแก่ตนโดยตนเองย่อมไม่มีเลยในโลกนี้ ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดิน ถ้าคิดถึงความข้อนี้แล้ว คิดถึงตัวของพวกเรา

พวกเรานั้นเหลือจะค้นเอาสุขในที่ทุกข์ได้ แม้นักปราชญ์ท่านกันเอาสุขในที่ทุกข์นั่นแหละ พวกเราเป็นผู้ฟังธรรม ต้องประพฤติปฏิบัติธรรม ให้รู้จักธรรม ธรรมนั้นคือสกลกายของเรานั่นเอง เมื่อสกลกายของเราสัมปยุตก็เหลือทุกข์ ก็เรียก ทุกขธรรม ถ้าสกลกายของเราสัมปยุตก็เหลือสุข ก็เรียก สุขธรรม ถ้าพ้นจากทุกข์ พ้นจากสุขแล้ว ก็ชื่อว่า อัพยากตธรรม ให้ตรวจดูตัวของเรานี่เอง ถ้าตัวเราสัมปยุตก็ด้วยทุกข์อันเกิดมาแต่เหตุใดหนอ นี่ชื่อว่า อามิส ชื่อว่าประพฤติปฏิบัติผิด เป็นกามสุขัลลิกานิโยค ให้ตรวจดูตัวของเรา ถ้าตัวของเราสัมปยุตด้วยสุขเพลินอยู่ด้วยสุข อันเกิดมาแต่เหตุภายนอกนี้ชื่อว่า อามิส ชื่อว่าประพฤติปฏิบัติผิดเป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นข้อปฏิบัติ มิจฉาทิฏฐิ ทำตนให้เนิ่นช้าอยู่ในวัฏฏะสงสาร ถูกหลอกลวงเอง ... ให้เสวยทุกข์ อันเป็นนิรมิสซึ่งเกิดขึ้นแต่กรรมของตน...ให้เสวยสุข อันเป็นนิรมิส คือเกิดขึ้นด้วยความประพฤติการกระทำของตน

จงรักษา อัพยากฤตธรรม คือ ความเป็นกลางนี้ไว้ อย่าเมาต่อสุข อย่าเมาต่อทุกข์ นี่คือการเดินถูกต้องตามทางสัมมาทิฏฐิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว อย่าเผลอไป เพราะหาเวลามีอิสระแก่ตนเองเสียก่อน จึงจะประพฤติปฏิบัติในทางพระศาสนา อันนี้เรียกว่าเห็นผิดคิดผิด ทำชีวิตให้เนิ่นช้าปราศจากความสุขของตนเอง

พวกเรามีลาภอย่างยิ่งที่ได้ประพฤติปฏิบัติแก่ท่านผู้มีบุพการี อย่าคิดไปข้างหน้า อย่าคิดมาข้างหลังซึ่งเป็นตัวสมุทัย ให้คิดแต่ธรรมที่เป็นปัจจุบันเสมอไปเท่านั้นก็เป็นการสำเร็จ การประพฤติการศึกษาเล่าเรียน การปฏิบัติหาทางออกจาทุกข์ อย่างคุกอย่างตารางไม่มีทุกข์นี้อยู่ที่ใจของตนนั่นเอง จงพิจารณาตามพระธรรม ธรรมที่แนะนำมานี้

ให้เห็นความแจ้งความสว่างขึ้นที่ใจให้จงได้ ให้สมที่ท่านทรงวางพระทัย อย่าเผลอไปในกิจการงานของผู้อื่นโดยส่วนเดียว ให้เหลียวแลกิจการงานของตนด้วย เอาอย่างแม่โคคอยเลี้ยงลูกอ่อน ตาก็สำเหนียกคอยดูลูก คอยระวังป้องกันรักษาภัย ทั้งปากก็กัดหญ้าเคี้ยวกลืนเรื่อยร่ำไป ทั้งท้องของตนก็อิ่ม ทั้งลูกของตนก็พ้นภัย การเจริญศีลเจริญธรรมเป็นหน้าที่ส่วนของตน ขอจงอย่าละเลย

ต่อนี้จะแนะนำวิธีที่ต้องปฏิบัติอย่างย่อ ๆ คือ ความรู้ดีรู้ชั่วเป็นอาการหนึ่ง สภาพที่ทรงความรู้ไว้นั้นเป็นอาการหนึ่ง การประพฤติการกระทำเป็นอาการหนึ่ง ความรู้รอบทั้งรู้ดีรู้ชั่วนี้ เป็นลักษณะของพระพุทธคุณที่ทรงไว้นั้นเป็นลักษณะของพระธรรมคุณ การประพฤติปฏิบัติเป็นลักษณะของพระสังฆคุณถามว่า ให้เป็นผู้รู้ทั่วไปตอบว่า เราเป็นผู้รู้ทั่วไปถามว่า ใครเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความรู้ทั้งปวงตอบว่า เรานี้เองเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความรู้ทั้งปวงถามว่า ใครเป็นผู้ประพฤติ ใครเป็นผู้กระทำตอบว่า เราเองนี้แหละเป็นผู้ประพฤติ เราเองนี้แหละเป็นผู้กระทำ

เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ก็รวมอยู่ในสกลกายของเรานี้เสมอไป ต่อจากนี้เราจะได้เป็น อุบาสโกบัณฑิตกา เป็นผู้อยู่ใกล้พระอยู่กับพระทุกเมื่อ

อีกความรู้ประเภทหนึ่ง ท่านแบ่งออกเป็น 2 คือรู้ดี เป็นสุขวิสาอย่างหนึ่ง รู้ชั่วเป็นทุกขวิสาอย่างหนึ่ง ทรงไว้ซึ่งความดีอย่างหนึ่ง ประพฤติชั่ว กระทำชั่วอย่างหนึ่ง ส่วนดีนั้นเป็นกุลสาธัมมา ฝ่ายพระท่านก็ประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น ก็เชื่อว่าผู้นั้นอยู่ใกล้พระ อยู่กับพระทุกเมื่อ

ส่วนชั่วนั้นเป็นอกุสลาธัมมา ฝ่ายพญามารก็ประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น ชื่อว่าผู้นั้นอยู่ใกล้มาร อยู่กับมารทุกเมื่อ เป็นผู้ห่างไกลจากพระ ผู้ใดปรารถนาอย่างอยู่ใกล้พระจริง อย่าเพ่งโทษคนอื่น เขาว่าอย่างไรก็ตาม ยกให้เขาหมดเสีย สำราจตนเองทั้งคุณและโทษที่มีอยู่ในสกลกายของเราอยู่เสมอไป นั่นก็เป็นการสำเร็จ

ที่ได้แสดงมานี้ก็ได้สมควรแก่เวลา ขอยุติเพียงแค่นี้ ขอให้คุณพระรัตนตรัยจงดลบันดาลเข้าถึงใจของพวกเราทั้งหลาย ให้เห็นความแจ้ง ความสว่าง ความสงบขึ้นที่ใจของตนให้จงได้ ความจริงจะหนีความจริงไปไม้พ้น ดั่งบรรยายมาแต่ก่อนจนอวสาน ดั่งได้รับประทานวิสัชชนามา เอวังก็มีด้วยประการละฉะนี้

(จาก กระทู้ในลานธรรมเสวนา)